Online Video marketing

        การประชาสัมพันธ์ผ่านวิดีโอคลิปเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านโลกออนไลน์ที่มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้องมีค่าผลิตวิดีโอคลิป นักแสดง หรืออื่นๆ ซึ่งทำให้วิดีโอคลิปที่ออกมาต่างจากโฆษณาโดยปกติ น่าดึงดูด ไม่จงใจขายสินค้าหรือบริการมากจนเกินไป และทำให้เกิดการส่งต่อไปเรื่อยๆ โดยคนดูเองจุดเริ่มต้นของการประชาสัมพันธ์ออนไลน์ผ่านวิดีโอคลิปนี้เริ่มจากการเกิดของ Youtube (ยูทูบ) ในปี 2005 ด้วยแนวคิดของผู้ก่อตั้งคือ Chad Hurley (แชด เฮอร์ลีย์) และ Steve Chen (สตีฟ เชน) ที่ต้องการสร้างเว็บไซต์เพื่อไว้แลกเปลี่ยนวิดีโอคลิปกัน แต่กลับกลายเป็นว่าผู้ใช้นำวิดีโอคลิปไปฝากไว้ที่ Youtube แล้วลิงก์จากบล็อกของตัวเองไปยัง Youtube ทำให้ Youtube เติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นผู้ใช้บริการ Youtube บางรายเริ่มอัพโหลดรายการทีวีของสหรัฐอเมริกาบางรายการเข้าไปอยู่ใน Youtube และมีคนชมจำนวนมาก จึงเริ่มมีบริษัทหลายแห่งหันมาสนใจการทำโฆษณาออนไลน์ด้วยวิดีโอคลิปผ่าน Youtube กันมากขึ้น

บริษัทแรกที่่ทำการโฆษณาผ่าน Youtube คือ Nike ด้วยโฆษณาที่มี Ronaldinho ใส่รองเท้าของ Nike เล่นฟุตบอล ทำให้วิดีโอคลิปดังกล่าวถูกส่งต่อกันอย่างมากจนกลายเป็นวิดีโอคลิปยอดนิยมของ Youtube ในเวลานั้น จากวิดีโอคลิปดังกล่าวทำให้หลายบริษัทเริ่มมาประชาสัมพันธ์ผ่านวิดีโอคลิปใน Youtube กันเพิ่มมากขึ้นอย่างเช่น Levi’s ซึ่งประสบความสำเร็จในการโฆษณาผ่านวิดีโอคลิปในปี 2008 ด้วยวิดีโอคลิปที่มีชื่อว่า Backflip Into Jeans ซึ่งเป็นวิดีโอคลิปที่สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดการโฆษณาแบบปากต่อปากเหมือนเช่นโฆษณาแบบวิดีโอคลิปของ Nike

อีกตัวอย่างเช่น Kobe Jumps Over Car ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของวิดีโอคลิปที่ประสบความสำเร็จทางการโฆษณาผ่าน Youtube อีกเจ้านั้นได้แก่ Blendtec บริษัททำเครื่องปั่นที่ใช้กันประจำในครัวซึ่งในอดีตมียอดขายตกต่ำมาก แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อทำการโฆษณาด้วยวิดีโอคลิปผ่าน Youtube ที่มีชื่อว่า Will it blend? ซึ่งวิดีโอคลิปนำเสนอความโลดโผนของเครื่องปั่น การนำสิ่งของมาปั่นในเครื่องปั่นจนละเอียดเป็นผุยผง ทำให้บริษัท Blendtec มียอดขายที่เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าเลยทีีเดียว

ในประเทศไทยก็เริ่มมีวิดีโอคลิปใน Youtube ที่ได้รับความนิยมจนติดอันดับของต่างชาตินั้นคือโฆษณาของ Pantene ชุดสาวใบ้ นอกจากจะใช้วิดีโอคลิปเพื่อการโฆษณาแล้ว ยังสามารถใช้วิดีโอคลิปเพื่อรณรงค์โครงการต่างๆ ได้อีกด้วย อย่างเช่น ปี 2009 Volkswagen ได้ทำโครงการเพื่อสังคมชื่อ Fun Theory โดยให้คนทั่วไปร่วมทำวิดีโอคลิปส่งเสริมให้คนในประเทศสวีเดนนั้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อให้สังคมและตัวเองดีขึ้น โดยวิดีโอคลิปที่คนร่วมส่งมาในYoutube ทำให้เกิดการส่งต่อกันไปและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น

ในประเทศไทยเองก็มีการรณรงค์ผ่านวิดีโอคลิปใน Youtube ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างคือการรณรงค์ของ “มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง” ในคลิปที่มีชื่อว่า YouSex: Girls and condom ซึ่งมีคนเข้ามาดูจำนวนมาก หรืออย่างงานอีเวนต์ของคนไอทีอย่าง barcampbangkok ครั้งที่ 2 ก็ได้จัดทำวิดีโอคลิปเพื่อประชาสัมพันธ์ ทำให้มีคนร่วมส่งคลิปมาเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าพลังของวิดีโอคลิปก่อให้เกิดการส่งต่อหรือความร่วมมือและมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าและบริการนั้นได้อย่างทันที

อย่างไรก็ตามต้องจำไว้ว่าไม่ใช่ทุกวิดีโอคลิปบน Youtube ที่จะได้รับการชม การส่งต่อ หรือการบอกเล่าแบบปากต่อปาก เนื่องจากมีวิดีโอคลิปถูกอัพโหลดบน Youtube เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งอาจทำให้วิดีโอคลิปโฆษณาสินค้าและบริการของเราถูกดูดกลืนไปในคลื่นยักษ์ของวิดีโอคลิปใน Youtube ที่มีจำนวนมากจนผู้ชมอาจหาไม่เจอก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นการโพสต์วิดีโอคลิปบน Youtube จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมืออื่นๆ เพื่อทำให้เกิดการกระจายของคลิป เช่นการใช้ บล็อก, Facebook, Twitter หรือการใส่คำบรรยาเพื่อสื่อถึงคลิป รวมถึงการทำ SEO หรือการใช้คีย์เวิร์ดของคลิปให้เหมาะสมเพื่อช่วยให้ค้นหาวิดีโอคลิปใน Youtube ได้ง่ายขึ้น

การสร้างวิดีโอคลิปอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงเหมือนโฆษณาตามสื่อทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องแบบมืออาชีพ เพียงแต่เนื้อหาในวิดีโอคลิปต้องมีแรงดึงดูดและไม่เหมือนใคร ดังเช่นวิดีโอคลิปต่างๆ ที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น การสร้างเนื้อหาวิดีโอคลิปให้ดีและน่าสนใจอาจช่วยให้เกิดการพูดถึงและส่งแบบปากต่อปาก

  • ทำวิดีโอคลิปให้สั้น โดยทั่วไปแล้ววิดีโอคลิปที่ประสบความสำเร็จสูงมักมีความยาวประมาณ 15-30 วินาที ซึ่งหากเกินกว่านี้เราควรจะตัดออกเป็นชุดๆ เพื่อให้เกิดการติดตาม วิดีโอคลิปต้องออกแบบให้ง่ายต่อการดัดแปลง ซึ่งเจ้าของสินค้าหรือบริการต้องยอมรับว่าจะมีการคัดลอกวิดีโอคลิปไปทำใหม่หรือดัดแปลงโดยผู้อื่น ซึ่งยิ่งมีการดัดแปลงมากก็แสดงว่าได้รับความนิยมมากเท่านั้น อย่างเช่นวิดีโอคลิป David After Dentist ซึ่งมีจำนวนคนชมกว่า 45 ล้านครั้ง และมีการดัดแปลงจากผู้ชมคลิปเป็นรูปแบบต่างๆ กันไป
  • อย่าทำวิดีโอคลิปให้เป็นเหมือนโฆษณาทางโทรทัศน์ เพราะคนชมวิดีโอคลิปไม่ได้ต้องการจะดูโฆษณา แต่ต้องการจะดูสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจและจะส่งต่อวิดีโอคลิปนั้นหากมันดึงดูดความสนใจมากพอ อย่างเช่น Evian Roller Babies ที่มีคนดูกว่า 27 ล้านครั้ง และหลายๆ สื่อโทรทัศน์ในไทยก็ได้พูดถึงวิดีโอคลิปนี้ หรือโฆษณาของ Dove ที่มีชื่อว่า Dove evolution ซึ่งมีคนชมกว่า 10 ล้านครั้ง
  • สร้างกระแสด้วยการทำให้ช็อก การทำให้วิดีโอคลิปหักมุมหรือมีเรื่องราวให้คิดต่อเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นอย่างคลิปโปรโมตภาพยนต์เรื่อง District 9 ที่ทำวิดีโอคลิปออกมาให้คิดต่อว่าภาพยนตร์จริงๆ นั้นคืออะไร หน้าเปิดวิดีโอคลิปก่อนจะเล่นและชื่อวิดีโอคลิปควรสร้างแรงดึงดูดให้คนเข้ามาชม
ปัจจุบันนี้มีเครื่องมือสำหรับติดตามว่าวิดีโอคลิปโฆษณาสินค้าและบริการที่ออกไปได้รับการตอบรับมากแค่ไหน ด้วยการใช้เว็บไซต์มีชื่อว่า Tubemogul และ Vidmatrix สำหรับติดตามจำนวนผู้ชม จำนวนผู้แสดงความเห็น และการจัดอันดับ โดยเว็บไซต์ดังกล่าวจะแสดงการวิเคราะห์เป็นกราฟที่สวยงามได้ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจอันดับของวิดีโอคลิปได้จากเว็บไซต์ viralvideochart.unrulymedia.com ซึ่งจะช่วยให้เรารู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของการชมในแต่ละสัปดาห์

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s